กรอบความร่วมมือ - สหกรณ์เยอรมันและสมาพันธ์ไรไฟฟ์เซน
(Deutscher Genossenschafts – und Raiffeisenverband e.V.: DGRV) แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
 

 
 

 

          สหกรณ์เยอรมันและสมาพันธ์ไรไฟฟ์เซน หรือ DGRV เป็นองค์การสูงสุดในระดับชาติของสมาพันธ์ด้านการตรวจบัญชีสหกรณ์ในเยอรมนี ซึ่งมีสมาชิกเป็นสหกรณ์ขั้นปฐมมากกว่า 5,000 สหกรณ์ ประกอบด้วย กลุ่มเกษตร กลุ่มธนาคาร และกลุ่มสหกรณ์ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและบริการขนาดเล็ก สหกรณ์ในเยอรมนีเป็นองค์กรธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อพิจารณาจากจำนวนสมาชิก โดยหนึ่งในห้าของชาวเยอรมันเป็นสมาชิกสหกรณ์ รวมจำนวนมากกว่า 17 ล้านคน สมาชิกมีทั้งบุคคลทั่วไป ลูกจ้าง นายจ้าง เกษตรกร ผู้ประกอบการทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก
 
          กฎหมายของเยอรมนีกำหนดให้สหกรณ์ทุกแห่งในเยอรมนีต้องได้รับการตรวจบัญชีเป็นประจำทุกปี โดย DGRV ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สอบบัญชี อีกทั้งยังมีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่สหกรณ์ในด้านการบริหารธุรกิจ กฎหมาย การเงิน การพัฒนาบุคลากร ตลอดจนการให้คำปรึกษาด้านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และระบบการจัดการข้อมูล
 
 
 
 
 ภารกิจของ DGRV
 
          1. เป็นองค์กรสอบบัญชีระดับชาติ ซึ่งรับผิดชอบสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบสหกรณ์ในภาพรวม เช่น นโยบายด้านเศรษฐกิจ กฎหมาย การเงิน โดยให้คำแนะนำและส่งเสริมแก่สหกรณ์ ตลอดจนการประสานงานกับ องค์กรและสถาบันอื่นๆ ในระดับชาติและนานาชาติ
          2. จัดกิจกรรม/โครงการเกี่ยวกับการพัฒนา และเป็นที่ปรึกษาระหว่างประเทศเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สหกรณ์พันธมิตร
          3. สนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
          4. เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิต ธนาคารสหกรณ์ ตลอดจนการให้บริการไมโครเครดิต
          5. จัดตั้งและสนับสนุนระบบการตรวจบัญชีสหกรณ์
          6. ให้คำแนะนำแก่รัฐบาล ผู้ตรวจการธนาคาร และองค์กรมหาชนอื่น ๆ ในด้านกฎหมายสหกรณ์การสอบบัญชี
และการควบคุมสหกรณ์
 
 
 
 ภารกิจด้านต่างประเทศของ DGRV 
 
          1. สนับสนุนกิจการสหกรณ์ทั้งในเยอรมนีและระหว่างประเทศ
          2. การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับองค์กรสหกรณ์ในประเทศต่าง ๆ และองค์กรระหว่างประเทศ
          3. ให้คำปรึกษาและการดำเนินการโครงการระหว่างประเทศ
          4. การเชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์ในด้านการเงิน ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมและกลุ่มเกษตรกรรม
          5. การจัดตั้งสถาบันกลาง ได้แก่ ธนาคารกลางสหกรณ์
          6. การพัฒนาระบบการให้การศึกษาอบรม
          7. การสร้างระบบการตรวจสอบกิจกรรมในรูปแบบความร่วมมือกับสถาบันการเงินระดับชาติต่าง ๆ
 
          ปัจจุบัน DGRV ได้ขยายความร่วมมือไปยังประเทศในเอเชีย ได้แก่ กัมพูชา เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ไทย สปป. ลาว เวียดนาม และอินเดีย โดยวัตถุประสงค์หลักของความร่วมมือ คือ การสนับสนุนเศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมของประชากรที่มีความแตกต่างกัน เพื่อทำให้เศรษฐกิจรวมถึงโครงสร้างทางสังคมระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค เกิดการพัฒนา นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมในประเทศที่มีความร่วมมือ
 
 
 
 ความร่วมมือระหว่าง DGRV กับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
         
         ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ประสานงานกับ DGRV เพื่อขอรับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบบัญชี เพื่อมาประจำการ ณ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการสอบบัญชีสหกรณ์ภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร โดยมีนาย Christian Albrecht ตำแหน่ง Auditor of Association of Cooperatives of Bavaria (ผู้สอบบัญชีของสมาคมสหกรณ์แห่งแคว้นบาวาเรีย) ประเทศเยอรมนี เป็นผู้เชี่ยวชาญคนแรกที่เดินทางมาเรียนรู้ภารกิจกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และศึกษาดูงานสหกรณ์ในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ไทย ให้มีองค์ความรู้ในด้านการเงิน การบัญชี การจัดการ และปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังสนับสนุนการให้องค์ความรู้ด้านการจัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลทางการเงินของสหกรณ์ National Cooperative Financial Hub (NCFH) เพื่อสร้างระบบบัญชีและเครื่องมือที่ทันสมัย รวมถึงการใช้ข้อมูลด้านการเงินสำหรับวางแผนและพัฒนาประเทศ
         
          ต่อมามีการหารือเกี่ยวกับการจัดทำโครงการความร่วมมือระหว่างกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กับ DGRV เพื่อพัฒนาผู้ตรวจสอบกิจการ ซึ่งเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 53 ได้บัญญัติว่า "ให้สหกรณ์มีผู้ตรวจสอบกิจการ...” แสดงว่ากฎหมายให้ความสำคัญกับผู้ตรวจสอบกิจการจึงได้กำหนดให้ทุกสหกรณ์ต้องมีการตรวจสอบกิจการ ดังนั้น หากผู้ตรวจสอบกิจการมีความรู้และมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานก็จะมีส่วนช่วยในการกำกับดูแลให้สหกรณ์มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล มีความมั่นคงและเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเป็นอิสระ
 
 
 
           ปี 2553
          กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมกับ DGRV และมูลนิธิฮันส์ ไซเดล (Hanns Seidel Foundation) จัดโครงการสมรรถนะในการสร้างระบบผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ไทย หลักสูตร การผลิตมาตรฐานผู้ตรวจสอบกิจการรองรับการพัฒนาสหกรณ์ไทย ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2553
          การฝึกอบรมครั้งนี้มุ่งผลิตมาตรฐานผู้ตรวจสอบกิจการ ซึ่งให้ความสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ การวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ 6 มิติ (CAMELS Analysis) การเฝ้าระวังและเตือนภัยทางการเงิน (Warning System) และการรายงาน (Reporting) โดยเน้นเรื่องของ "การรายงาน” ของผู้ตรวจสอบกิจการที่ควรเป็นรายงานในเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านความเสี่ยง โดยมีนายคริสเตียน อัลเบรชท์ ผู้เชี่ยวชาญจาก DGRV เป็นวิทยากรหลัก
 
 
 
           ปี 2554
          กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ดำเนินการจ้างที่ปรึกษา (คณะทำงานวิจัยโครงการศึกษากลไกสร้างความเข้มแข็งสถาบันเกษตรกรผ่านการตรวจสอบกิจการ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษาโครงการ) เพื่อศึกษากลไลการสร้างความเข้มแข็งสถาบันเกษตรกรผ่านการตรวจสอบกิจการ ซึ่งมีการศึกษาดูงาน ณ อิตาลี ออสเตรีย เช็ก และเยอรมนี ระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2554
          นอกจากนี้ นายคริสเตียน อัลเบรชท์ ผู้เชี่ยวชาญจาก DGRV พร้อมด้วยคณะทำงานวิจัยโครงการฯ ได้ไปศึกษาดูงาน ณ สหกรณ์การเกษตรสามชุก จำกัด จ.สุพรรณบุรี ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 และศึกษาดูงาน ณ กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ในวันที่ 19 ตุลาคม 2554 เพื่อสังเกตการณ์และวิเคราะห์การทำงานของสหกรณ์การเกษตรของไทยสำหรับใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาการตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ โดยจะมีการร่วมอภิปรายซักถามข้อสงสัยจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของสหกรณ์ การติดตามประเมินผล สรุป และการวางแผนสำหรับงานในอนาคต
 
 
 
           ปี 2556
          กรมตรวจบัญชีสหกรณ์จึงได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการประเมินความเสี่ยงด้านการวางแผนและขั้นตอนการสอบบัญชี (Workshop for Risk-Oriented Approach) โดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรและงบประมาณจาก DGRV ระหว่างวันที่ 9 – 10 กรกฎาคม 2556 ณ โรงแรมเวียงใต้ บางลำพู กรุงเทพมหานคร หลักสูตรดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อหาวิธีแก้ไขจุดอ่อนชองกรมพร้อมถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานสอบบัญชี เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสอบบัญชีมีความรู้ ความเข้าใจ ตั้งแต่ขั้นตอนการสอบบัญชี ประเภทของการสอบบัญชี การประเมินความเสี่ยงด้วยวิธีการทบทวนข้อผิดพลาดในอดีต โดยอาศัยมุมมองของวิทยากรซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสอบบัญชีเกิดแนวคิดใหม่ ๆ ไปใช้ในการพัฒนางานได้
 
 
 
           ปี 2558
          กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการประเมินความเสี่ยงด้านการวางแผนและขั้นตอนการสอบบัญชี (Workshop for Risk-Oriented Approach) ระหว่างวันที่ 25 – 27 มีนาคม 2558 ซึ่งเป็นหลักสูตรต่อเนื่องจากปี 2556 และได้รับการสนับสนุนงบประมาณและวิทยากรอีกครั้ง ความร่วมมือระหว่างกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และ DGRV ที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานนี้จะสามารถยังประโยชน์ให้แก่บุคลากรกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้อย่างต่อเนื่อง เป็นการทบทวนและเสริมความรู้ใหม่ ๆ ให้แก่บุคลากรทั้งกลุ่มเป้าหมายเดิมและกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่มีความตั้งใจพัฒนาทั้งด้านวิชาชีพและภาษาอังกฤษ
 
 
 
           ปี 2559
          กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมกับ DGRV จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ 2 หลักสูตร ดังนี้
          1. หลักสูตร การบริหารความเสี่ยงในงานสอบบัญชี (Workshop for Risk-Oriented Approach) ระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2559 เป็นหลักสูตรต่อเนื่องจากปี 2556 ซึ่งความรู้จากหลักสูตรดังกล่าวมีความจำเป็นต้องอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการทบทวนและเสริมความรู้ใหม่ ๆ ให้แก่บุคลากรทั้งกลุ่มเป้าหมายเดิมและกลุ่มเป้าหมายใหม่
          2. หลักสูตร รายงานการสอบบัญชี (Workshop for Audit Report) ระหว่างวันที่ 3 – 4 มีนาคม 2559 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรที่มีภารกิจด้านตรวจบัญชีสหกรณ์โดยตรงได้เรียนรู้เพิ่มเติม ก่อให้เกิดประโยชน์ในการเขียนรายงานการสอบบัญชี รวมทั้งเปิดโลกทัศน์สู่งานวิชาชีพในระดับสากล โดยเน้นบุคลากรที่สามารถนำความรู้ไปขยายต่อในวงกว้างออกไปได้ วิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบบัญชีจากเยอรมนี จะให้ความรู้และเทคนิคในการเขียนรายงานการสอบบัญชีผ่านกรณีศึกษา โดยผลสัมฤทธิ์ของการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเขียนรายงานการสอบบัญชีในอนาคต เพื่อให้เกิดผลดีต่อขบวนการสหกรณ์ไทย
 
 
 
           ปี 2560
          กรมตรวจบัญชีสหกรณ์จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร "การยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีสหกรณ์สู่สากล” (Workshop on Auditing Standard Build-up to the International Level) ระหว่างวันที่ 20 – 24 มีนาคม 2560 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนและวิทยากรจาก DGRV
         
          หลักสูตรดังกล่าวเกิดจากการบูรณาการเนื้อหาหลายวิชาเพื่อให้ผู้สอบบัญชีของกรมฯ สามารถประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานจริง มีความรู้เกี่ยวกับลักษณะการทุจริตและสัญญาณเตือนภัยการทุจริต สามารถระบุและประเมินความเสี่ยงจากการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญซึ่งเป็นผลมาจากการทุจริต เทคนิคการสังเกตพฤติกรรมการทุจริต และมีเทคนิคในการตรวจสอบการทุจริต ตลอดจนสามารถสื่อสารหรือรายงานการทุจริตนั้นต่อผู้บริหาร หรือหน่วยงานกำกับดูแลได้ทราบ ผ่านรายงานการสอบบัญชีที่น่าเชื่อถือ ส่งผลให้สหกรณ์และผู้กำกับดูแลสหกรณ์แก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ สามารถลดความรุนแรงของผลกระทบและใช้เป็นเครื่องมือช่วยป้องกันปัญหาการทุจริตที่จะเกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งได้มีโอกาสเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านเทคนิคการตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญด้านสอบบัญชีจาก DGRV เยอรมนี
 
 
 
           ปี 2562
          DGRV ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการสอบบัญชี ณ ประเทศเยอรมนี การอบรมดังกล่าวกำหนดให้กรมคัดเลือกข้าราชการ 3 ราย เพื่อเข้ารับการอบรมดังกล่าว ระหว่างวันที่ 14 – 28 กันยายน 2562 (รวมวันเดินทางไป – กลับ) โดยข้าราชการกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ได้คัดเลือก คือ นางสาวชณิญญา หิรัญสุทธิ์ ตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์พิษณุโลก นายภาสกร เลาหวณิช ตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ขอนแก่น และนางสาวนพัตสลา จันทร์มา ตำแหน่งนักวิชาการตรวจสอบบัญชีชำนาญการพิเศษ
         
          ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงจากผู้สอบบัญชีในสังกัด DGRV และจากสหกรณ์ของเยอรมัน เกี่ยวกับ
           การดำเนินธุรกิจ การบริหารธุรกิจ และระบบการควบคุมภายในของสหกรณ์
           การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์
           การวางแผนการตรวจสอบภายใน
           การใช้เครื่องมือช่วยสอบบัญชีด้วย IT
           การประเมินความเสี่ยงการสอบบัญชี โดยยกตัวอย่างจากกรณีศึกษา
          เมื่อผู้เข้าอบรมทั้ง 3 รายกลับมาปฏิบัติราชการ ณ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ข้าราชการทั้งสามรายดังกล่าวได้ถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับจากการอบรมให้ผู้เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการสหกรณ์ ฝ่ายจัดการ ข้าราชการในสังกัด เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อภารกิจของตนต่อไป
 
 
 
           ปี 2564
          DGRV ได้เชิญกรมตรวจบัญชีสหกรณ์เข้าร่วมการประชุมออนไลน์ หัวข้อ การตรวจบัญชีสหกรณ์ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Cooperative Audit in Different South-East-Asian Countries) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการตรวจบัญชีระหว่างประเทศ (เยอรมนี ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์) ในวันที่ 28 กันยายน 2564 เวลา 09.00 - 16.30 น. ณ ห้องประชุม 404 อาคาร 4 ชั้น 4 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พร้อมประชุมออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom
          การประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 4 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย รวม 241 คน นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์จาก 3 ประเทศ ได้แก่ สปป. ลาว เมียนมา และกัมพูชา รวม 9 คน
          การประชุมดังกล่าวมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและแนวปฏิบัติของแต่ละประเทศในด้านการสอบบัญชี กรอบกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจบัญชีสหกรณ์ และการตรวจบัญชีระยะไกล ทำให้เกิดการเรียนรู้และนำมาปรับปรุงการทำงานของกรมให้มีความเหมาะสมมากขึ้น
 
 
 
           ปี 2565
          กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมกับสหกรณ์เยอรมันและสมาพันธ์ไรไฟฟ์เซน หรือ DGRV จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ ระบบการควบคุมภายในสำหรับสหกรณ์ (Internal Control System for Cooperatives) ระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม 2565 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting) โดยมีบุคลากรจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าร่วมรับฟังกว่า 1,300 ราย
          กิจกรรมประกอบด้วย การบรรยาย กรณีศึกษา การแบ่งกลุ่มอภิปราย และการนำเสนอผลการอภิปราย โดยในวันที่ 19 ตุลาคม 2565 เป็นการบรรยายโดยวิทยากรจากเยอรมนี Mr. Walter Schütz หัวข้อการบรรยาย ประกอบด้วย การประเมินระบบการควบคุมภายใน การประเมินความเสี่ยง ผลของเทคโนโลยีต่อระบบการควบคุมภายใน การป้องกันและตรวจสอบการทุจริต สาเหตุของความล้มเหลว และปัจจัยแห่งความสำเร็จของการดำเนินกิจกรรมควบคุมภายใน
          สำหรับวันที่ 20 ตุลาคม 2565 เป็นการแบ่งกลุ่มย่อยผู้เข้าร่วมประชุมฯ ผ่านทางระบบออนไลน์ โดยแบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม สำหรับอภิปรายกรณีศึกษา 5 เรื่อง ได้แก่ (1) สหกรณ์คนเลี้ยงผึ้ง จำกัด (Busy Bee-Keepers Cooperative Society Ltd.) (2) สหกรณ์ห้างซูเปอร์ (Super Cooperative - Till Operations) (3) สหกรณ์เลี้ยงโคเนื้อ (Better Beef – By-Products) (4) สหกรณ์ที่มีระบบการควบคุม (Controlled Cooperative) และ (5) สหกรณ์การค้าถั่วลิสง (Runnawae Groundnut Marketing Cooperative Society)
 
 
 
           ปี 2566
          กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมกับสหกรณ์เยอรมันและสมาพันธ์ไรไฟฟ์เซน หรือ DGRV จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร การตรวจจับและป้องกันการทุจริต (Fraud Detection and Prevention) ระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมตรัง ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
          ผู้เข้าร่วมการอบรม ประกอบด้วย บุคลากรจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และผู้ปฏิบัติงานในแวดวงสหกรณ์จากประเทศกัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รวมจำนวนทั้งสิ้น 71 คน ซึ่งจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยมี Mr. Alexander Bunse วิทยากรชาวเยอรมันและผู้แทนองค์กร German Sparkassenstiftung for International Cooperation (DSIK) ประจำประเทศเวียดนาม เป็นผู้บรรยายให้ความรู้ทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงการศึกษาจากกรณีศึกษา
          นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 - 8 ธันวาคม 2566 DGRV ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ Risk-Based Supervision for Cooperative Financial Institutions โดยความร่วมมือกับสมาคมสมาพันธ์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งเอเชีย หรือ ACCU ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ถนนสุขุมวิท 11 กรุงเทพฯ ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้จัดส่งบุคลากรเข้าร่วมการอบรมดังกล่าว จำนวน 5 คน
 
 
 

 การติดต่อประสานงานกับ DGRV
 
          1. สำนักงานใหญ่ กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
          ที่อยู่ Adenauerallee 121 D-53113 E-mail: [email protected]
         
          2. สำนักงานสาขา กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
          ที่อยู่ P042B, 4th floor, Coco Building 14 Thuy Khue, Tay Ho District Hanoi, Vietnam
 
 
         
 
 
 หน้าหลัก  กฎระเบียบเกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศ  กรอบความร่วมมือ
 อภิธานศัพท์  แบบทดสอบภาษาอังกฤษ  ติดต่อเรา