กรอบความร่วมมือ - ศูนย์พัฒนาชนบทแบบผสมผสานสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
(Center on integrated Rural Development for Asia and the Pacific: CIRDAP)
 

 
 
 
          CIRDAP เป็นสถาบันระหว่างรัฐบาลระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ถือกำเนิดจากการริเริ่มขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ซึ่งในคราวประชุมสมัชชา FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2521 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเชีย ที่ประชุมได้เห็นชอบให้จัดตั้ง CIRDAP ขึ้น โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงกาธา สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ มีสำนักงานย่อย 1 แห่ง
ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเชีย ปัจจุบัน CIRDAP มีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน เนปาล อัพกานิสถาน อิหร่าน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว อินโดนีเชีย มาเลเชีย
เมียนมา ไทย และฟิจิ)
 
 
 
 
 
 
 
 
          ในช่วงแรกของการจัดตั้งศูนย์ฯ ทาง FAO และรัฐบาลญี่ปุ่นและสวีเดนได้สนับสนุนเงินทุนเพื่อดำเนินกิจกรรมโครงการต่าง ๆ และต่อมาก็มีเงินบริจาคจากประเทศสมาชิกและสถาบันอื่น ๆ เช่น ธนาคารโลก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันญี่ปุ่นและสวีเดนงดการให้ความช่วยเหลือแล้ว สำหรับประเทศสมาชิกมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าสมาชิก ซึ่งประเทศไทยจ่ายค่าสมาชิก ปีละ 66,621 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.2 ล้านบาท
 
 
 
 

"Chameli House” สำนักงานใหญ่ของ CIRDAP
 
 
 
 วัตถุประสงค์ของ CIRDAP
 
          1. เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนความร่วมมือทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค ในการพัฒนาชนบทผ่านทางเครือข่ายสถาบันต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก CIRDAP เพื่อมุ่งปรับปรุงการผลิต รายได้ และสภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้ที่อาศัยในชนบท
          2. เพื่อเป็นสถาบันให้บริการสำหรับประเทศสมาชิกในการสนับสนุนด้านวิชาการ โดยการแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน
 

 

 

 กิจกรรมหลักของ CIRDAP
 
          1. กิจกรรมการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างโอกาสการจ้างงาน โดยมุ่งเน้นไปที่ความเกี่ยวพันกับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจจุลภาค เช่น ความยากจน และการสนับสนุนให้ประชาชนระดับรากหญ้าในประเทศสมาชิก CIRDAP มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
          2. กิจกรรมการฝึกอบรมเกี่ยวกับการวางแผน การนําไปปฏิบัติ และการประเมินผลการพัฒนาชนบท และช่วยให้ศูนย์พัฒนาชนบทของประเทศต่าง ๆ จัดหลักสูตรและการประชุมปฏิบัติการได้ โดยมีหัวข้อที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การกระจายการพัฒนาในพื้นที่ชนบท (rural development decentralization) การเสริมสร้างขีดความสามารถ (capacity building) การพัฒนาสตรีในชนบท (gender development) การพัฒนาชุมชน (community development) การบริหารโครงการ (project management) การพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) การบริหารแบบธรรมาภิบาล (governance) เป็นต้น
 
 
 
 ความร่วมมือระหว่าง CIRDAP กับประเทศไทย
 
          1. การให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูล/ประสบการณ์ในการพัฒนาชนบท การพัฒนาเกษตร และการขจัดความยากจนแก่ประเทศสมาชิกผ่านกิจกรรมของ CIRDAP
          2. ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่จากประเทศสมาชิก CIRDAP
ในเรื่องการดําเนินโครงการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ หนึ่งตําบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
          3. จัดการศึกษาดูงานในประเทศแก่เจ้าหน้าที่จาก CIRDAP และประเทศสมาชิก เช่น โครงการตามพระราชดําริ และ OTOP เป็นต้น
          4. การส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม
 
 
 
 ความร่วมมือกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
 การเป็นผู้สอบบัญชีให้กับ CIRDAP
          ปีบัญชีของ CIRDAP สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม ของทุก 2 ปี CIRDAP จะจัดให้มีการตรวจสอบงบการเงินและแสดงความเห็นต่องบการเงินโดย External Auditors จากประเทศสมาชิกเรียงลำดับตามตัวอักษรภาษาอังกฤษของชื่อประเทศสมาชิก แต่ละประเทศจะดำเนินการตรวจสอบบัญชีและแสดงความเห็นต่องบการเงิน 2 ปี นับเป็น 1 รอบบัญชี
          ประเทศไทยได้รับเชิญให้เป็น External Auditor สำหรับครั้งที่ 20 ครอบคลุม 2 ปีบัญชี คือ ปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 และวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และตรวจสอบบัญชีเพื่อแสดงความเห็นต่องบการเงินระหว่างกาล (Interim) สำหรับปีบัญชี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ จำนวน 6 ราย ปฏิบัติหน้าที่ External Auditors ให้แก่ CIRDAP โดยมีเจ้าหน้าที่ จำนวน 2 ราย คือ นางสาวอัญชลี นวลศรี นักวิชาการตรวจสอบบัญชีชำนาญการพิเศษ และนายนิพิฐพนธ์ ตติยนันตกุล นักวิชาการตรวจสอบบัญชีชำนาญการ เดินทางไปตรวจสอบเอกสาร ณ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ระหว่างวันที่ 1 - 10 กันยายน 2562
          สำหรับการตรวจสอบบัญชี ครั้งที่ 21 ครอบคลุม 2 ปีบัญชี คือ ปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และวันที่ 31 ธันวาคม 2564 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ จำนวน 6 ราย ทำหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินของ CIRDAP โดยได้ทำการตรวจสอบระหว่างวันที่ 14-28 กุมภาพันธ์ และวันที่ 1-4 มีนาคม 2565 ณ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้รายงานผลการสอบบัญชีรอบปีบัญชีดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 33 (33rd Executive Committee Meeting of CIRDAP) เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทราบด้วยแล้ว
 2565
          CIRDAP กำหนดจัด การฝึกอบรมหลักสูตร การบูรณาการระดับภูมิภาคด้านการพัฒนาชนทบ ธรรมาภิบาล การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนในเอเชียและแปซิฟิก (Regional Integrated Rural Development, Governance, Trade and Sustainable Development in Asia and Pacific) ระหว่างวันที่ 4 - 25 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองกุมิลลา บังคลาเทศ โดยขอความร่วมมือกรมตรวจบัญชีสหกรณ์มอบหมายบุคลากรในสังกัดเป็นวิทยากรบรรยาย หัวข้อ "บัญชีสำหรับเกษตรกร” (Accounting of Farmers) ในวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน 2565 เวลา 14.30 - 16.00 น. (เวลาในประเทศไทย) ผ่านทางระบบออนไลน์ (Zoom Meeting) ซึ่งได้มอบหมายให้นายวิศรุต นันทวิญญู ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมพัฒนาการบัญชีครัวเรือน สำนักส่งเสริมพัฒนาการบัญชีและถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อดังกล่าว
 
 
 
 
 การติดต่อประสานงานกับ CIRDAP
 
          1. หน่วยงานผู้ประสานงานในประเทศไทย หน่วยงานของไทยที่ติดต่อประสานงานกับ CIRDAP มีเฉพาะสํานักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นสํานักงานเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานกับ FAO โดยสํานักการเกษตรต่างประเทศเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบและดําเนินความร่วมมือกับ CIRDAP หรือที่เรียกว่า CIRDAP-Link Institute ทําหน้าที่ประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และนอกสังกัด รวมถึงภาคเอกชน ทั้งนี้ เนื่องจากบทบาทหน้าที่ของ CIRDAP เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชนบทเป็นหลัก ซึ่งประเทศไทยไม่มีหน่วยงานใดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่รับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรงเหมือนประเทศอื่น ๆ
 
          ที่อยู่   สำนักงานคณะกรรมการประสานงานกับ FAO
                    สํานักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
                    ถนนราชดําเนินนอก กรุงเทพมหานคร 10200
                    โทร. 022819312, 022815955 ต่อ 122
                    โทรสาร 022816996
                    E-mail: [email protected]
 
          2. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา
                    Ambassador of Thailand to Bangladesh
                    Royal Thai Embassy
                    18 & 20 Madano Avenue Baridhara
                    Dhaka 1212 Bangladesh
                    Tel.: (88-02) 881-2795-6, 881-3260-1 Fax.: (88-02) 885-4280-1
 
          3. การประสานงานกับ CIRDAP กรุงธากา
                    17 Topkhana Road, GPO Box 2883
                    Dhaka – 1000, Bangladesh
                    E-mail: [email protected]
                    Website: https://cirdap.org/
 
 
 

 
 
     
     
     
     
         
 
 
 หน้าหลัก  กฎระเบียบเกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศ  กรอบความร่วมมือ
 อภิธานศัพท์  แบบทดสอบภาษาอังกฤษ  ติดต่อเรา