APEC เป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2532 ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน จีนไทเป (ไต้หวัน) ฮ่องกง เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี ชิลี รัสเซีย และเปรู (ฮ่องกงและไต้หวัน ยังไม่นับเป็นประเทศ สมาชิก APEC จึงใช้สรรพนามร่วมกันว่าเขตเศรษฐกิจ)
การดำเนินงานของ APEC อยู่บนพื้นฐานของฉันทามติ ความสมัครใจ และไม่มีข้อผูกมัดด้วยกฎหมาย APEC มีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและระบบการค้าพหุภาคี เพื่อก่อให้เกิดความเท่าเทียมทางการค้าและผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก โดยคำนึงถึงความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจ สังคม และระดับการพัฒนาของสมาชิก ซึ่งการเข้าร่วมเป็นสมาชิก APEC ของไทยมีข้อดีในการพึ่งพากันทางเศรษฐกิจในภูมิภาค การเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีการเจรจาพหุภาคี รวมทั้งการสร้างเครื่องมือในการคานอำนาจทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและกลุ่มอเมริกาเหนือ นอกจากนี้ APEC ถือเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น โดยสมาชิกสามารถดำเนินการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนตามความสามารถ และสภาพความพร้อมของแต่ละเขตเศรษฐกิจ สำหรับบทบาทของไทยในฐานะสมาชิกขององค์กรดำเนินการขับเคลื่อนองค์กรด้านต่าง ๆ ได้แก่ การเข้าร่วมประชุมผลักดันนโยบายและการดำเนินงานขององค์กร และการเข้าร่วมกลุ่มคณะทำงานต่าง ๆ โดยเข้าร่วมการประชุมทุกระดับตั้งแต่ระดับผู้นำ ระดับรัฐมนตรี ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ตลอดจนการประชุมระหว่างผู้เชี่ยวชาญในคณะทำงานสาขาต่าง ๆ
APEC มีกลไกการดำเนินงานระดับคณะทำงาน (Working Groups) และคณะทำงานเฉพาะกิจ (Task Force) ประกอบด้วย 15 คณะทำงาน ซึ่งประเทศไทยมีหน่วยงานรับผิดชอบในแต่ละคณะทำงานตามสาขาที่มีความเชี่ยวชาญ มีการประชุมปีละ 2 ครั้ง โดยคณะทำงานมีดังนี้
1) คณะทำงานด้านความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร (Agricultural Technical Cooperation Working Group: ATCWG) รับผิดชอบโดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่เพิ่มขีดความสามารถด้านวิชาการเกษตรในภูมิภาค APEC
2) คณะทำงานด้านการต่อต้านการทุจริตและความโปร่งใส (Anti - Corruption and Transparency Experts Working Group) รับผิดชอบโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (องค์การอิสระ) มีหน้าที่ต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
3) คณะทำงานด้านการต่อต้านการก่อการร้าย (Counter-Terrorism Working Group: CTWG) รับผิดชอบโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีหน้าที่ต่อต้าน การก่อการร้ายที่มีผลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค APEC
4) คณะทำงานด้านการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Preparedness Working Group: EPWG) รับผิดชอบโดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ดำเนินความร่วมมือเพื่อเตือนภัยและรองรับเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติในภูมิภาค APEC
5) คณะทำงานด้านพลังงาน (Energy Working Group: EWG) รับผิดชอบโดย สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน มีหน้าที่ส่งเสริมความร่วมมือในการใช้พลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาข้อมูลด้านพลังงานตลอดจนการปรับตัวทางด้านพลังงานให้เข้ากับสถานการณ์ (energy resilience) เพื่อยกระดับความมั่นคงด้านพลังงาน
6) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการค้าไม้ผิดกฎหมายและการค้าที่เกี่ยวข้อง (Experts Group on Illegal Logging and Associated Trade: EGILAT) รับผิดชอบโดย กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่พิจารณาแนวทางในการลดการตัดไม้ทำลายป่า ส่งเสริมการค้าไม้ และสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างยั่งยืน
7) คณะทำงานด้านสุขภาพ (Health Working Group: HWG) รับผิดชอบโดย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ดำเนินความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน เพื่อส่งเสริมด้านการค้า ความมั่นคง การเติบโต และการพัฒนาอย่างครอบคลุมในภูมิภาค APEC
8) คณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development Working Group: HRDWG) รับผิดชอบโดย สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มีหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมขีดความสามารถด้านการศึกษา แรงงาน สตรี และเยาวชน
9) คณะทำงานด้านมหาสมุทรและการประมง (Ocean and Fisheries Working Group: OFWG) รับผิดชอบโดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานประสานงานหลักของไทย และกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานร่วม มีหน้าที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการทำประมงอย่างยั่งยืน
10) หุ้นส่วนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Policy Partnership on Science, Technology and Innovation: PPSTI) รับผิดชอบโดย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในภูมิภาคผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา
11) หุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านการเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในระบบเศรษฐกิจ (Policy Partnership for Women and the Economy: PPWE) รับผิดชอบโดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีหน้าที่ส่งเสริมบทบาทสตรีในระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก
12) คณะทำงานด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises Working Group: SMEWG) รับผิดชอบโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีหน้าที่่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคธุรกิจ SMEs การเข้าถึงข่าวสาร การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การสนับสนุนด้านการเงิน และการเข้าถึงตลาด
13) คณะทำงานด้านโทรคมนาคม (Telecommunications and Information Working Group: TELWG) รับผิดชอบโดย สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีหน้าที่ขยายการเข้าถึง เทคโนโลยีสารสนเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและความร่วมมือระดับภูมิภาค ศึกษาการเปิดเสรีด้านคมนาคม และลดช่องว่างความแตกต่างทางวิทยาการทางเทคโนโลยี หรือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้(digital divide)
14) คณะทำงานด้านการท่องเที่ยว (Tourism Working Group: TWG) รับผิดชอบโดยสำนักงาน ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีหน้าที่สร้างความยั่งยืนและเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภูมิภาค โดยการส่งเสริมการลงทุนเสรีที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวควบคู่กับการรักษาสภาวะแวดล้อม และสภาพสังคมตามธรรมชาติ
15) คณะทำงานด้านการคมนาคมขนส่ง (Transportation Working Group: TPTWG) รับผิดชอบโดย สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงด้านการขนส่ง ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ ในภูมิภาค APEC
นอกจากนี้ ยังมีคณะทำงานเฉพาะกิจที่นอกเหนือจากคณะทำงานที่ได้จัดกลุ่มไว้ โดยคณะทำงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่
1) กรอบการหารือเชิงนโยบายระดับสูงว่าด้วยเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร (High Level Policy Dialogue on Agricultural Biotechnology: HLPDAB) โดยมีกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลัก กำหนดจัดการประชุมทุกปีในสัปดาห์ความมั่นคงทางอาหาร (APEC Food Security Week) มีหน้าที่วางแผนกลยุทธ์ด้านการเกษตร เทคโนโลยีทางเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ
2) หุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหาร (Policy Partnership on Food Security: PPFS) โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นหน่วยงานหลัก มีกำหนดการประชุมทุกปี และมีกำหนดจัดประชุมรัฐมนตรี APEC ด้านความมั่นคงอาหารทุก 2 ปี มีหน้าที่ด้านความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และแลกเปลี่ยนนโยบายมาตรการของภาครัฐและภาคเอกชนในการส่งเสริมความมั่นคงอาหาร
คณะทำงานเหล่านี้มีภารกิจในการสนับสนุนทางวิชาการผ่านการให้ทุน สนับสนุนโครงการด้านวิชาการ เพื่อถ่ายทอด แบ่งปันความรู้และเทคโนโลยี และเสริมสร้างความแข็งแกร่งในระดับภูมิภาคให้แก่สมาชิก APEC ซึ่งในส่วนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้จัดส่งข้อเสนอโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตรและความมั่นคงอาหาร จำนวน 6 โครงการ ดังนี้
|